ความหมายของบุคลิกภาพ (Personality)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525 ให้ความหมายของคำว่า “บุคลิกภาพ” ไว้ว่า “บุคลิกภาพ คือ สภาพนิสัยเฉพาะคน”
ในหนังสือ Dictionary of Education ของ Carter V. Good (Good 1973) ให้ความหมายของบุคลิกภาพไว้ว่า “บุคลิกภาพ หมายถึงการแสดงออกด้านอารมณ์ จิตใจ
และพฤติกรรมต่างๆของแต่ละบุคคล
อันเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ต่อสภาพแวดล้อมทางด้านจิตวิทยาและสังคมของบุคคลทั่วไป”
จรรยา สุววรณทัต และดวงกมล เวชบรรยงรัตน์(2529: 220) อธิบายว่า “บุคลิกภาพ หมายถึงแบบแผนพฤติกรรมของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เป็นที่รับรู้กันทั่วไป
เป็นลักษณะรวมของบุคคลอันประกอบด้วยพฤติกรรมที่แสดงออก
และลักษณะภายในบุคคลซึ่งทำให้บุคคลนั้นมีความแตกต่างไปจากบุคคลทั่วไป”
ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์(2525:22)อธิบายไว้ว่า “บุคลิกภาพ คือ
เอกลักษณ์หรือพฤติกรรมเฉพาะตัวของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งทำให้บุคคลนั้นแตกต่างจากบุคคลอื่น”
จากความหมายของคำว่า “บุคลิกภาพ” ที่นำมากล่าวข้างต้นนี้พอสรุปความได้ว่า
“บุคลิกภาพคือ คุณลักษณะทุกสิ่งทุกอย่างทั้งภายนอกและภายใน
ซึ่งรวมอยู่ในตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ทำให้บุคคลนั้นมีความแตกต่างไปจากบุคคลอื่นๆ”
ความสำคัญของบุคลิกภาพ
กล่าวโดยทั่วไป บุคลิกภาพมีความสำคัญต่อบุคคลดังต่อไปนี้
1.ช่วยให้ง่ายต่อการจดจำ และการเข้าใจบุคคล
เพราะบุคลิกภาพเป็นของเฉพาะตัว ใครมีบุคลิกภาพอย่างไร
ก็มักจะแสดงออกมาให้ปรากฏแก่สายตาผู้พบเห็นเช่นนั้นเป็นประจำ
2.เป็นแบบฉบับที่นำไปเป็นตัวอย่างได้
บุคลิกภาพที่ดีของบุคคลบางคนสามารถนำไปเป็นแบบอย่างแก่อนุชในได้
3.ช่วยให้ความมั่นใจในตนเอง
บุคคลที่มีบุคลิกภาพดีและเหมาะสมจะทำให้เกิดความมั่นใจในการทำงานมากยิ่งขึ้น
4.ช่วยให้บุคคลสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมได้ดีบุคคลที่มีบุคลิกภาพดีย่อมสามารถสร้างปฎิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่นได้ดีและได้รับการยอมรับนับถือ
5.ช่วยให้ทำง่ายต่อการทำนายพฤติกรรมของบุคคล
อุปนิสัยและอารมณ์ที่แตกต่างกันของบุคคล ย่อมมีผลพฤติกรรมที่แสดงออกต่างกันด้วย
6.สังคมให้การยอมรับบุคคลที่มีบุคลิกภาพดี
ไม่ว่าจะบุคลิกภาพในการพูดจา ความซื่อสัตย์ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นต้น
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ย่อมทำให้บุคคลในกลุ่มยอมรับนับถือ
7.ช่วยทำให้บุคคลประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน
บุคคลที่มีบุคลิกภาพดี ย่อมเป็นที่รักเคารพของบุคคลทั่ว เพื่อประกอบกิจการงานใดๆ
จึงมักจะมีความผู้ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน
ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพ
แกริสัน(Karl Garrison. 1979: 145-167)ได้ศึกษาถึงปัจจัยต่างๆที่ทำให้บุคลิกภาพของบุคคลแตกต่างกันไปว่าเกิดจากอิทธิพลดังต่อไปนี้
1.อิทธิพลของร่างกาย เช่น เด็กคนหนึ่งมีรูปร่างเตี้ย
ผิดไปจากธรรมดาใครๆต่างก็ทักว่าเตี้ย ย่อมทำให้เด็กเชื่อว่าตนไม่สูงสง่าอย่างผู้อื่น
จึงต้องกระทำใดๆเพื่อเป็นการชดเชยสิ่งที่ตนขาดหายไป เช่น เดินคลอนศีรษะ
แบบนักเลงโต เพื่อแสดงให้คนอื่นเห็นว่า ถึงเตี้ยแต่ก็ยังแน่
2.อิทธิพลของต่อม โดยปกติ ต่อมในร่างกายคนเราที่อิทธิพลต่อบุคลิกภาพ ได้แก่
ต่อมไร้ท่อ เช่น ต่อมธัยรอยด์ ต่อมแอดรีแนล เป็นต้นตัวอย่างเช่นต่อม
ธัยรอยด์เป็นต่อมที่มีอิทธพลต่อการเคลื่อนไหวของร่างกาย
ถ้าต่อมนี้ฉีดฮอร์โมนมากไปทำให้การเผาผลาญในร่างกายมาก
ก็จะกลายเป็นคนลุกลี้ลุกสนเคลื่อนไหวอยู่เสมอ
หากต่อมนี้ฉีดฮอร์โมนน้อยก็จะกลายเป็นคนเฉื่อยชา ไม่กระฉับกระเฉง
3.อิทธิพลของสังคม เด็กที่มีชีวิต ความเป็นอยู่ในสังคมที่ต่างกัน
ย่อมมีบุคลิกภาพต่างกันไป ไม่ว่าจะเป็นฐานะทางครอบครัว, กลุ่มเพื่อน, สภาพแวดล้อมต่างๆย่อมมีอิทธิพลต่อเด็กมาก
4.อิทธิพลของการศึกษา การศึกษา และการเรียมรู้ของมนุษย์เราไม่มันจบสิ้น ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์
ย่อมเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาในระบบโรงเรียน
หรือการศึกษานอกระบบย่อมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบุคคลิกภาพของบุคคลได้เสมอ
ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพ ตามความเห็นของนักวิชาการหลาย ๆ ท่านมีความคล้ายคลึงกัน จะแตกต่างกันที่รายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้น แต่ข้อสรุปจะเหมือนกัน คือ ปัจจัยที่อิทธิพลทำให้บุคลิกภาพของคนเราต่างกัน ที่สำคัญมีอยู่ 2 ประการ คือ
1.พันธุกรรม (Heredity) หมายถึง ลักษณะต่างๆที่บุคคลได้รับถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ
เช่นรูปร่าง หน้าตา นัยน์ตา ผิวพรรณ สีของผม ชนิดของโลหิต เชาว์ปัญญา
รวมทั้งโรคบางอย่างอีกด้วย เป็นต้น
2.สิ่งแวดล้อม (Environment) หมายถึงสิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวบุคคล ตั้งแต่สภาพครอบครัว
การอบรมเลี้ยงดู สภาพสังคมอื่น
ๆขนบธรรมเนียนประเพณีซึ่งมีอิทธิพลพัฒนาการทางด้านสติปัญญา อุดมคติ เจตคติ ค่านิยม
อารมณ์ กิริยา มารยาท เป็นต้น
ปัจจัยที่สำคัญทั้ง 2 ประการ
ก่อให้บุคลิกภาพ 7 ชนิด คือ
1.บุคลิกภาพทางกาย เช่น รูปร่างเล็ก ใหญ่ อ้วน ผอม สูง เตี้ย
ซึ่งเป็นบุคลิกภาพภายนอก เป็นสิ่งแรกที่เรามองเห็นซึ่งมีผลทางจิตใจด้วย
ถ้าร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดีจิตใจก็สดชื่น แจ่มใส
2.บุคลิกภาพทางความสมอง เช่น ความเฉลียวฉลาด ความจำ การลืม
จินตนาการ เชาว์ปัญญา ความตั้งใจ ความพอใจ การตัดสินใจ
3.บุคลิกภาพทางความสามารถ ความถนัด เช่น ความสามารถในการเรียน
การทำงาน อันเป็นลักษณะตามธรรมชาติของแต่ละบุคคล
แต่ละคนมีความสามารถความถนัดไม่ถนัดเหมือนกัน เช่น
ความสามารถในการแก้ปัญญาเฉพาะหน้า ความถนัดทาง ด้านภาษา กีฬา ศิลปะ
4.บุคลิกภาพทางอุปนิสัย หมายถึง ความประพฤติ
ศีลธรรมจรรยาที่มีอยู่ในตัวบุคคล เช่น ความสุขภาพ ซื่อสัตย์ ความอ่อนโยน
ความไม่เห็นแต่ตัว เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ
5.บุคลิกภาพทางการสมาคม เป็นพฤติกรรมที่แสดงต่อผู้อื่น
ไม่ว่าจะเป็นกิริยาท่าทาง ความประพฤติ เช่น ชอบคบหาสมาคม ชอบเก็บตัว สงบเสงี่ยม
ชอบทำตัวเด่น ชอบพูดเสียงดัง ยอมรับฟังเหตุผล ฯลฯ
6.บุคลิกภาพทางอารมณ์
เป็นการแสดงออกแสดงออกทางความรู้ที่ทำให้เกิดการกระทำต่างๆ เช่น ตื่นเต้น ตกใจง่าย
อดทน กล้าหาญ ขี้ขลาด ใจเย็น ใจร้อน ร่าเริง แจ่มใส่ เฉื่อยชา ฯลฯ
7.บุคลิกภาพทางกำลังใจ คือความสามารถในการควบคุม จิตใจ
หรือบังคับพฤติกรรมต่างๆได้เช่น ใจแข็ง ใจมั่นคง ความขยันหมั่นเพียร บากบั่น อดทน
ตรงข้ามกับคนที่ใจอ่อน ท้อถอย ไม่กล้าต่อสู้ปัญญาอุปสรรคต่างๆถ้ารู้เสียใจ
ผิดหวังก็ร้องไห้ ก็แสดงออกทางสีหน้าหรือคำพูด เป็นต้น
ลักษณะของบุคลิกภาพที่ดี
กันยา สุวรรณแสง (2533 : 354 - 355) กล่าวถึงบุคลิกภาพที่เป็นที่ปรารถนา ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้
1.มีสุขภาพสมบูรณ์
2.ลักษณะท่าทางมีสง่า กระดับกระเฉง คล่องแคล่ว ว่องไว กระตือรือร้น
ใฝ่และแสวงหาความ ก้าวหน้า
3.เป็นคนมีเหตุผล ละเอียด สุขุม รอบคอบ
4.มีอารมณ์มั่นคง มีอารมณ์ขัน ร่าเริงอยู่เสมอ รู้จักบังคับใจตนเอง
ไม่หวั่นไหวต่อเหตุการณ์
5.ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดีความทุกกาลเทศะ
6.มีกำลังใจเข้มแข็ง มีความอดทนสูง
7.เป็นตัวของตัวเอง กล้าคิด กล้าตัดสินใจ
8.ไม่มองโลกในแง่ร้าย เป็นบุคคลที่มองโลกแง่ดี
9.เป็นบุคคลที่ยอมรับความจริง และเข้าใจโลก
10.มีความเชื่อมั่นในตนเอง ไม่เป็นคนขี้อาย
มีความสามารถในการตัดสินใจไม่รวนแร
11.มีความร่าเริง สดชื่น แจ่มใสอยู่เสมอ
12.มีความสุขภาพเรียบร้อย กิริยามารยาท
วาจาท่าทางแสดงออกเป็นเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น
13.มีความเห็นอกเห็นใจ ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีความทุกข์
14.มีความเห็นอกเห็นใจ ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีความทุกข์
15.มีความสงบเสงี่ยม รู้จักอดกลั้น บังคับใจตนเอง ไม่ตื่นเต้น
หวั่นไหวต่อเหตุการณ์
16.ไม่เห็นแก่ตัว เอาเปรียบผู้อื่น
การพัฒนาบุคลิกภาพ
การพัฒนาบุคลิกภาพ คือ
การวิเคราะห์ถึงลักษณะเฉพาะอย่างของแต่ละบุคคลว่าเหมาะสมกับงานประเภทใดอย่างไร
แล้วหาทางปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมบางอย่างให้เหมาะสมกับหน้าที่การงานประเภทนั่นให้มากยิ่งขึ้น
ดังนั่น การพัฒนาบุคลิกภาพของครูก็คือ การวิเคราะห์ถึงลักษณะเฉพาะของที่เป็นครู
หรือกำลังจะเป็นครู แต่ละคนว่าเหมาะกับสมความเป็นครู มากยิ่งขึ้น
การพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลมีกระบวนการที่สำคัญดังต่อไปนี้
1. การวิเคราะห์ตนเอง (Self Analysis)
การวิเคราะห์ตนเองหมายถึง
การสำรวจตรวจสอบว่าตัวของเราเองมีสิ่งใดดีหรือสิ่งใดบกพร่องอะไรบ้างที่เหมาะสมกับงานี่ทำ
ในขณะเดียวกันก็สำรวจสอบดูว่ามีข้อบกพร่องอะไรบ้าง
วิธีการตรวจสอบหรือวิเคราะห์ตัวเองที่ให้ผลมากกว่าวิธีอื่น
คือการให้บุคคลที่เราสมาคมอยู่ด้วยวิพากษ์วิจารณ์อย่างเปิดเผยหรือตรงไปตรงมาและตัวเราก็ต้องยอมรับเสียงวิพากษ์
วิจารณ์ตัวเรา
เราก็สามารถวิเคราะห์ตัวของเราเองได้โดยใช้วิธีการพิจารณาใคร่ครวญตรวจสอบตนเองอยู่เสมอ
หมั่นนึกคิดอยู่เสมอว่า “จงเตือนตนด้วยตนเอง” จะพูดจะทำหรือนึกคิดสิ่งใดจงสติให้มั่นคงอยู่เสมอ
2. การปรับปรุงและฝึกฝนตนเอง (Self Improvement
and Training )
การแก้ไขปรับปรุงตนเองจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการวิเคราะห์ตนเองเป็นเบื้องต้นนั่นคือ
จะต้องฝึกตนให้เป็นคนรู้เหตุ รู้ผล เมื่อรู้ว่าอะไรไม่เหมาะสมแล้วมีผลเสียอย่างไร
ก็พยายามเลิกพฤติกรรรมสิ่งนั้นเสีย เช่น พูดเสียงเบา ก็พูดให้ดังขึ้น
เดินไหล่เอียงไปข้างหน้าก็พยายามเดินให้ตัวตรง
เป็นคนเจ้าอารมณ์ก็พยายามฝึกความอดทนหรือมีขันติ
หรือแต่งกายไม่ค่อยเรียบร้อยก็พยามยามแต่งกายระเบียบแบบแผนเป็นต้นและต้องหมั่นฝึกให้เป็นนิสัย
การฝึกตนอาจสำเร็จได้ตังอาศัยความจริงใจ และอดทนเป็นปัจจัยสำคัญ
3. การแสดงออก (Behavior)
การแสดงออกภายหลังที่ผ่านการปรับปรุง
และการฝึกฝนมาแล้วเป็นการสร้างความเชื่อมั่นที่ดีให้เกิดขึ้น
พยายามแสดงออกและปฏิบัติบ่อยๆ จนทำให้เกิดความรู้สึกเคยชิน
การแสดงออกจะทำให้เราทราบว่า บุคลิกภาพได้พัฒนาหรือเปลี่ยนไปมากน้อยอย่างไร
4. การประเมินผล (Evaluation)
การประเมินผล เป็นการสำรวจตรวจสอบครั้งสุดท้าย
หลังจากได้กระทำตามขั้นตอนที่ได้วางแผนหรือตั้งใจไว้แล้ว การประเมินผลทางบุคลิกภาพควรให้คนอื่นที่เรามีปฏิกิริยาสัมพันธ์อยู่ด้วยเป็นผู้ประเมิน
ถ้าเป็นผู้ที่เราคุ้นเคยมาก ๆ
เป็นผู้ประเมินจะยิ่งน่าเชื่อถือมากกว่าคนที่เราไม่ค่อยคุ้นเคย
วิจิตร อาวะกุล(ม.ป.ป. : 30-32 ) ได้กล่าวว่า การพัฒนาบุคลิกภาพอาจเริ่มต้นพัฒนาจากสิ่งเหล้านี้
1.การวางท่าทีท่าทาง (มาด) ให้ดูดี
ถ้าคุณต้องการให้คนอื่นสนใจชื่นชอบ การทำท่าทีท่าทาง การทรงตัว
วางตัวของท่านให้ดูดี เป็นการสร้างเสน่ห์และเสริมสร้างบุคลิก คุณต้องพยายามสังเกต
หัดวางมาดที่ดีเสียก่อน ฝึกหัดลีลาท่าทาง การพูดคุย การหัวเราะ ยิ้มแย้ม ตลอดจนการเดินเยื้องย่าง
การเคลื่อนไหวตัวฝึกฝนให้สง่างาม ถ้าไม่สง่างามก็ต้องน่ารัก
การวางตัวให้เหมาะสมกับกาลเทศะ เพื่อให้ผู้พบเห็นประทับใจในตัวคุณ
2.แต่งกายดี ย่อมรับกันใช่ไหมว่าคนเรามองกันที่การแต่งกายเป็นลำดับแรก
เครื่องแต่งกายช่วยสร้างบุคลิก ความประทับใจ ดึงดูดความสนใจ
การแต่งกายให้ดูดีนั่นไม่จำเป็นต้องซื้อเสื้อผ้ายี่ห้อที่มีชื่อเสียงโด่งดัง
ราคาแพง นำสมัย แต่อยู่ที่ความเมาะสมกับรูปร่าง สะอาด รีดเรียบ
เหมาะสมกับทรวดทรงเอวองค์ กาลเทศะและไม่แลดูเปิ่นก็พอแล้ว
3.ยิ้มแย้มแจ่มใสทุกคนชอบคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส
การยิ้มจึงเป็นการสร้างเสน่ห์ อย่าบูดบึ้ง ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เช่นไร
จะสุขจะทุกข์อย่างไรถ้าอยากมีบุคลิก อยากมีเสน่ห์ ก็ต้องยิ้มแย้มเข้าไว้
จะยิ้มมากยิ้มน้อยก็ตามแต่สถานการณ์ แต่อย่างน้อยก็ควรให้หน้าอมยิ้ม
หรือบ่นยิ้มเข้าไว้ อย่าให้หน้าปมทุกข์เป็นอันขาดเพราะบุคลิกคุณจะติดลบและหมดเสน่ห์
4.สื่อภาษาพูดภาษากายให้มีแต่ความหมายที่ดีออกมา พูดจาใช้ภาษาดอกไม้ให้ไพเรา สุภาพ หนุ่มเน้า
คนโสดที่หาแฟนไม่ค่อยจะได้ ก็เพราะปากไม่ดี พูดไม่เป็น สื่อความหมายที่ดีล้มเหลว
ทะลึ่ง หยาบคายเข้าไปอีก พูดคุยอย่าเอาแต่จ้อไม่รู้จังหวะจะโคน ทะลึ่งตึงตัง
ไม่ดูที่ดูเวลา
ต้องรู้วิธีและหัดพูดให้ไพเราะเข้าไว้รู้เวลาไหนควรพูดเวลาไหนควรหยุดพูด
พูดให้ประทับใจพูดให้มีบุคลิกพูดไพเราะเพราะพริ้งเข้าไว้
5.ร่าเริงแจ่มใสสนุกสนานหน้าตายิ้มแย้มก็แจ่มใส แต่งกายดีก็แจ่มใสมีอารมณ์ขัน หัวเราะ
สนุกสนานเสียบ้างดีกว่าเต๊ะท่าบึ้งตึงตลอดปี ตลอดชาติ ร่วมรายการรื่นเริง
สนุกสนานเต้นรำ รำวงไปกับเขา
ก็จะช่วยให้เกิดบุคลิกที่น่าพึ่งพอใจผู้คนต้องสัมพันธ์ด้วย มีเสน่ห์ขึ้น
เสื่อมใสศรัทธามากขึ้น
6.วางตัวให้มีศักดิ์ศรีมีเกียรติบ้าง ความมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ทำให้ความเกิดความเลื่อมใสยกย่องแต่ทำให้พองาม
อย่าเจ้ายศเจ้าอย่างจนเกินงาม ไม่มากเกินไป แต่ให้น่ารักน่านับถือ
เพราะอาจจะทำให้คุณมีบุคลิกเหมือนคนหยิ่งหรือจองหองไปได้
7.เป็นกันเองและเปิดเผย อย่าถือตัว เย่อหยิ่งจนเกินไป ต้องให้พองาม พอสวย มีความเป็นพื้นๆ(Friendly) บางคนมีเพื่อนสนิทสนมมากมาย แต่พอมีตำแหน่งใหญ่โต
ความสนิทสนมเป็นกันเองหายไป
ทำคล้ายกับคนไม่รู้เคยรู้จักกันมาก่อนจงมีความรู้สึกท่าทางที่จะเป็นเพื่อนกับทุก ๆ
คน อย่ามองเมินหรือก้มหน้าไม่สู้สายตาไม่มองหน้าคน ทำเหมือนมีลับลมคมใน
มีบุคลิกเหมือนนางอาย
8.การทำตนให้คล่องแคล่วว่องไว (Active)
คนที่มีความคล่องแคล่ว ย่อมทำให้อื่นคล่องแคล่วไปด้วย
แสดงให้เห็นความเป็นคนกระฉับกระเฉง เป็นลักษณะ ที่สำคัญของหัวหน้า ผู้นำ
นักบริหารที่มีบุคลิกดี
เพราะจิตใจที่เข้มแข็งกระฉับกระเฉงแคล่วคล่องว่องไวมักจะอยู่ในร่างกายที่
แข็งแรงถ้าจิตใจห่อเหี่ยว ร่างกายก็ห่อเหี่ยวเชื่องช้า เชื่อมซึมไปด้วย
ทำให้เสียบุคลิก
9.บังคับควบคุมจิตใจอารมณ์ให้ได้
ผู้มีอิทธิดีย่อมไม่แสดงตนออกตามจิตใจอารมณ์ของตน
เมื่อไม่พอใจไม่สมหวัง ไม่แสดงอาการหัวเสีย
ไม่ท้อแท้เมื่อเกิดความพลั้งพลาดไม่แสดงความอ่อนแอให้ผู้อื่นเห็น การบังคับสีหน้า
อากัปกิริยาให้อยู่ในอาการสงบ การควบคุมบังคับจิตใจอารมณ์ได้
ผู้นั่นจะมีบุคลิกที่ดีได้
10.หัดอ่านความรู้สึกหรือความต้องการของคนให้ออก
หัดสังเกตอ่านอากัปกิริยา ในใจ สายตา ท่าทาง
น้ำเสียงการพูดของเขาเพื่อปรับบุคลิกของเราให้เหมาะสม แสดงท่าทาง การพูดให้เหมาะสม
เก็บข้อมูลให้มากที่สุดไม่ใช่เอาแต่วางมาดหรือเอาแต่พูด ๆ ๆ เท่ห์ ๆ
โดยไม่ดูความเหมาะสม ความเบื่อหน่าย รำคาญ หยุดเสียบ้าง ปรับเสียงบ้างให้พอเหมาะ
สวยงาม โดยสังเกตอารมณ์ของเขาว่าดีหรือเปล่า งานบุ่งหรือไม่
สถาการณ์รอบตัวอำนวยหรือไม่ ไม่ใช่เอาแต่เดินหน้า บ้าลูกเดินหน้า บ้าลูกเดียว
11.การรักษาเวลาตรงต่อเวลา
การตรงต่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ใดตรงเวลามักได้รับการรับหมิ่น
ดูแคลนจากผู้อื่น บางคนก็ตั้งฉายาให้จนเสียหายว่า “เจ้าชายสายเสมอ” ถ้าเรานัดไม่เป็นนัดแม้เป็นคู่รักก็อาจเลิกกันได้
เพราะเป็นสิ่งทำให้อื่นไม่พอใจเพราะต้องเสียเวลารอ เสียงาน
ทำให้มองเห็นว่าเป็นคนไม่รับผิดชอบไม่จริงจัง หย่อนยาน ฯลฯทำให้เสียบุคลิก
12. อย่าแสดงตนเป็นผู้รู้มาก อย่าทำเก่งทุกเรื่อง
ให้คนอื่นเก่งบ้างเพราะถ้าเราแสดงว่ารู้ทุกเรื่อง
คนอื่นก็ไม่อยากแสดงความรู้ของเขาออกมาให้เราเห็นเพราะอาจเป็นการฉีกหน้าเราว่าเราไม่รู้
จึงต้องหัดเป็นผู้ฟัง พูดเพื่อให้เขาแสดงความคิดเห็น
ขณะที่เราเป็นนักฟังย่อมได้เปรียบเหมือนผู้ที่อยู่ในที่ซ่อนที่กำบัง
ส่วนผู้พูดเหมือนผู้เดินมาในโล่งแจ้ง ย่อมมีโอกาสถูกยิงได้ง่าย
การไม่แสดงตนเป็นผู้รู้มากพูด ๆ พูด ๆ หัดฟังความคิดของผู้อื่น
แสดงแต่ความเห็นริเริ่มสร้างสรรค์
จะสร้างการควบคุมอารมณ์จิตใจทำให้เกิดความสุขุมเป็นผู้นำ และมีบุคลิกดีในที่สุด
บุคลิกภาพที่ดีของครู
งานในอาชีพครู
เป็นงานที่ต้องอาศัยผู้ประกอบวิชาชีพที่มีบุคลิกภาพดี
เพราะครูต้องมีการพบปะสังสรรค์ หรือมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลหลายฝ่าย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักเรียนที่ครูต้องรับผิดชอบ
เพราะนอกจากครูจะมีหน้าที่สั่งสอน ทางด้านวิชาการความรู้ทั่วไปแล้ว
บุคลิกภาพที่ดีของครูยังเป็นแบบอย่างที่เด็กจะนำไปประพฤติปฏิบัติตามดังนั้นหากครูอาจารย์มีบุคลิกภาพที่ดีในหลาย
ๆ ด้าน ก็จะช่วยให้การสั่งสอน อบรม เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ยนต์ ชุ่มจิต (2539 : 1558 - 163)ได้อธิบายถึงบุคลิกภาพพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับ ครู อาจารย์
พึงยึดถือปฏิบัติและฝึกฝนตนเองให้ถูกต้องเหมาะสม ดังต่อไปนี้
1.การแต่งกาย
การแต่งกายของครูอาจารย์เป็นบุคลิกภาพพื้นฐานที่มีความสำคัญยิ่งประการหยึ่ง
เพราะเป็นสิ่งแรกที่บุคคลอื่น ๆ ตั้งแต่นักเรียน ผู้ปกครองปละประชาชนทั่วไปมองเห็น
ภาพลักษณ์ของครูอาจารย์ เป็นที่น่าชื่นชมยินดีของผู้พบเห็น ก็ช่วยทำให้บุคคลต่าง ๆ
เกิดเจตคติที่ดีต่อครูอาจารย์เมื่อบุคคลมีเจตคติที่ดีต่อกัน ความนิยมยกย่องนับถือก็จะเกิดขึ้นดังนั้นผู้ที่กำลังจะครู
และครูอาจารย์ทุกคนจึงควรให้ความสนใจในการแต่งกาย
ให้มีความเหมาะสมกับกาลเทศะทั้งในเวลาสอนและนอกเวลาสอน
การแต่งกายที่เหมาะสมนั้น มิได้หมายความว่า
จะต้องใช้เสื้อผ้าอาภรณ์ที่มีราคาแพง ๆ แต่ขึ้นอยู่กับการเสือกสีสันให้เหมาะสมกับผิวพรรณ
และการใช้เสื้อผ้าที่มีรูปทรง เหมาะสมมากกว่า กล่าวโดยสรุป ครู อาจารย์
ควรเสริมบุคลิกภาพในการแต่งกายของตนเอง ดังนี้
1.1แต่งกายให้เหมาะสมกับความนิยมของสังคมในโอกาสต่าง ๆ เช่น
งานราตรสโมสร งานต้อนรับ งานรับรอง งานมงคลสมรส และงานวันเกิด เป็นต้น
1.2ไม่แต่งกายผิดสถานที่ เช่น
แต่งชุดอาบน้ำไปเดินตามสวนสาธารณะหรือแต่งชุดนักกีฬาไปติดต่อธุรกิจการงาน
1.3สวมเสื้อผ้าให้รัดรูดทรงแต่พองาม ไม่หลวมจนดูรุ่มร่าน
หรือคับตึงจนดูอึดอัด
1.4ก่อนสวนใส่เสื้อผ้า ต้องซักรีดให้เรียบร้อยพอสมควร
1.5แต่งกายให้เหมาะสมเพศ วัย และผิวพรรณ
1.6ควรสวมรองเท้าออกนอกบ้านทุกครั้ง และต้องสะอาดอยู่เสมอ
1.7การแต่งกายไปงานศพ
หญิง ควรใช้ชุดสีดำล้วน
เสื้อคอปิด ไม่เปิดหลังหรือไหล่มากเกินไปไม่ใช้เครื่องประดับแวววาว
หรือเครื่องประดับทุกชนิดมากเกินควร และควรงดเครื่อง ประดับที่เป็นสี
ชาย ควรแต่งกายด้วยชุดีเข้มและเรียบ
สวมถุงเท้าดำ รองเท้าดำ หรือเข้ม ถ้าเป็นชุดสากลต้องติดแขนทุกข์
ข้างซ้ายเหนือขัดศอก
1.8 การแต่งกายไปทำบุญ สำหรับหญิงต้องแต่งกายให้เรียบร้อย
ไม่ประเจิดประเพ้อ ไม่สวมกางเกงรัดรูปหรือประโปรงสั้น
1.9 การแต่งกายไปติดต่อราชการ ต้องแต่งการให้เรียบร้อย เช่น
ไม่ปล่อยชายเสื้อเชิ้ตออกนอกกางเกง ต้องกลัดกระดุมเสื้อให้เรียบร้อย
ไม่สวมรองเท้าแตะถ้าเป็นสตรีอย่าสวมกางเกงติดต่อราชการ
เพราะเป็นการแสดงถึงความไม่เคารพต่อสถานที่และความเป็นคนไม่มีสัมมาคารวะ
1.10 การเข้าเฝ้าฯในงานพระราชพิธี รัฐพิธี หรืองานสโมสรสันนิบาตต้องแต่งตามหมายกำหนดการ
คำสั่ง หรือระเบียบแบบแผนที่กำหนดไว้ ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องเต็มยศ ครึ่งยศ
หรือเครื่องแบบปกติ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ (สำหรับเครื่องแบบปกติ)
1.11 การเข้าเฝ้าฯ ลำลอง
โดยมากแต่งกายชุกสากลนิยมที่สุภาพสีไม่ฉุดฉาดไม่ไว้ทุกข์
เว้นแต่เมื่อมีประกาศไว้ทุกข์ในราชสำนักหรือในพิธีการศพ
2.กิริยามารยาท
ความจริงคำว่า “กิริยามารยาท” เป็นคำที่มีความหมายกว้าง ดังนั้น
ในที่นี้จะเน้นเฉพาะกิริยาอาการซึ่งบุคคลต้องมีปฎิสัมพันธ์กับบุคคลอยู่เป็นประจำ
เช่น ความมีสัมมาคาราวะเมื่อเดินผ่านผู้ใหญ่โดยการโน้มตัวให้ต่ำตามฐานนะของบุคคล
การเจรจาด้วยถ้อยคำที่สุภาพนุ่มนวล อ่อนหวาน
เมื่อทำสิ่งใดที่ผิดพลาดและส่งผลกระทบต่อบุคคลข้างเคียงควรกล่าวคำว่า “ขอโทษ” หรือ “ขออภัย” เมื่อพบผู้ที่ควรเคารพนับถือซึ่งเรารู้จักคุ้นเคยควรแสดงความเคารพด้วยการไหว้หรือวิธีอื่น
ๆ ที่มีความเหมาะสมกับกาละเทศะและเมื่อได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นควรกล่าวคำ “ขอบคุณ” เป็นต้น สิ่งต่างๆ
เหล่านี้หากเป็นผู้ที่กำลังจะเป็นครู รวมทั้งครูอาจารย์ได้ฝึกหัดทำจนเป็นนิสัยแล้ว
จะช่วยเพิ่มบุคลิกภาพให้แก่ตนเองได้อย่างดียิ่ง
3.การยืน
การยืนเป็นบุคลิกภาพที่สำคัญอีกประการหนึ่ง ดังนั้น
ครูอาจารย์จะต้องพยายามฝึกฝนการยืนให้อยู่ในลักษณะที่สง่าผ่าเผยอยู่เสมอ
และจะต้องสำรวมระวังลักษณะการยืนให้เหมาะสมเมื่อเข้าพบบุคคลต่าง ๆ
ซึ่งมีแนวปฏิบัติดังนี้
3.1 การยืนตามลำพัง ทั้งชายและหญิงควรปฏิบัติดังนี้
ชาย ยืนให้ลำตัวตรง
เข่าชิดกัน ปลายเท้าห่างจากกันพอสมควรปล่อยมือตามสบาย
หญิง ยืนให้ลำตัวตรง ปลายเท้าและส้นเท้าชิดกัน ปล่อยมือตามสบาย
3.2 การยืนต่อหน้าผู้ใหญ่
1) การยืนฟังคำสั่ง
ทั้งชาย – หญิง ยืนลำตัวตรง หน้ามองตรง
มือทั้งสองปล่อยแนบลำตัว
2) การยืนฟังโอวาท
ทั้งชาย – หญิง ยืนลำตัวตรง ก้มหน้าเล็กน้อย
มือทั้งสองประสานกันไว้ต่ำกว่าระดับเข็มขัดเล็กน้อย
หมายเหตุ การยืนต่อหน้าผู้ใหญ่ ไม่นิยมการยืนเผชิญหน้า
ควรยืนให้เฉียงไปทางซ้ายหรือขวาเล็กน้อย
4.การเดิน
การเดินเป็นบุคลิกภาพที่มีความสำคัญมากยิ่งกว่าบุคลิกภาพในการยืนเพราะการยืนเป็นเพียงสภาวะที่บุคคลหยุดอยู่กับที่
ผู้อื่นไม่สามารถสังเกตเห็นกิริยาอาการได้ครบถ้วน
ส่วนการเดินเป็นสภาวะที่ร่างกายต้องเคลื่อนไหว
ทำให้บุคคลอื่นมองเห็นลักษณะอาการของเราได้มากขึ้น
บุคคลแม้จะมีหน้าตาผิวพรรณสวยงานสักเพียงใด แต่ถ้าหากเดินไม่สวยเสียแล้ว ๆ
ก่อนจะมีการประกวดจริง
คณะกรรมการหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการฝึกบุคลิกภาพในการเดินให้แก่ผู้เข้าประกวดเสียก่อน
ครูอาจารย์ก็เช่นเดียวกัน
จะต้องพยายามฝึกการเดินให้สง่างามโดยเฉพาะครูอาจารย์สตรีจะต้องระมัดระวังสำรวมการเดินให้มากเป็นพิเศษ
อย่างไรก็ดี ลีลาท่าทางของการเดินที่เหมาะสมนั้นควรปฏิบัติดังนี้
4.1การเดินตามสบาย ทั้งชาย – หญิงควรเดินให้ลำตัวตั้งตรง หน้ามองตรงแกว่งแขนพอสมควร
ไม่เดินกางแขน ไหล่ห่อ หรือแกว่งแขนปัดไปปัดมา
โดยเฉพาะผู้หญิงต้องระวังการเดินอย่าให้สะโพกส่ายไปมา จำให้เสียบุคลิกภาพอย่างมาก
4.2การเดินตามผู้ใหญ่ ทั้งชาย – หญิง ปฏิบัติเช่นเดียวกัน คือ
เดินตามหลังให้เยื้องไปทางซ้ายมือของผู้ใหญ่ประมาณ 1 – 2 ก้าว เมื่อผู้ใหญ่เจรจาด้วยให้โน้มตัวเล็กน้อย
5.การนั่ง
การนั่ง มีความสำคัญต่อสุขภาพและบุคลิกภาพ คนที่นั่งผิดสุขลักษณะ
เช่น การนั่งหลังงอจะทำให้ปวดหลัง
การนั่งให้ลำตัวตรงนอกจากจะทำให้ไม่ให้ปวดหลังแล้ว
การนั่งให้ลำตัวตรงนอกจากจะทำให้ไม่ปวดหลังแล้ว
ยังเป็นการเสริมบุคลิกให้แก่บุคคลอีกด้วย อย่างไรก็ตาม
แม้ว่าการนั่งจะไม่มีผลกระทบต่อบุคลิกภาพมากเท่ากับการเดิน แต่การนั่งในบางลักษณะที่ไม่เหมาะสมก็ทำให้เสียบุคลิกภาพได้เหมือนกัน
ดังนั้น ครูอาจารย์จึงควรระมัดระวังและฝึกฝนการนั่งให้สง่างามอยู่เสมอ
ลีลาดารนั่งที่ควรฝึกปฏิบัติมีดังต่อไปนี้
5.1 การนั่งกับพื้นตามลำพัง
1)ชาย-นั่งพับเพียบ ไม่นิยมเท้าแขน
ปกติแล้วนิยมวางมือทั้งสองคว่ำบนหน้าขาหรือประสานมือไว้บนตัก
2)หญิง-นั่งพับเพียบ
จะเท้าแขนหนึ่งหรือวางมือประกบกันไว้บนตักก็ได้
5.2 การนั่งกับพื้นต่อหน้าผู้ใหญ่
1)นั่งพับพับเพียบเก็บปลายเท้าให้เรียบร้อย นั่งตัวตรง
2)มือทั้งสองประสานหรือประกบกันไว้บนตัก
ก้มหน้าเล็กน้อย
3)เมื่อผู้ใหญ่เจรจาด้วย ให้โน้มตัวเล็กน้อย
4)ทั้งชาย– หญิง ปฏิบัติเช่นเดียวกัน
5.3 การนั่งเก้าอี้ตามลำดับ
1)ชาย – นั่งห้อยขา ส้นเท้าชิดกันปลายเทาห่างจากกันเล็กน้อย ลำตัวตั้งตรง
หลังพิงพนักเก้าอี้ มือทั้งสอง
วางคว่ำอยู่บนหน้าขาทั้งสองหรือประสานกันไว้บนตักก็ได้
2)หญิง– นั่งห้อยขา ส้นเท้า ปลายเท้าและหัวเข่าชิดกัน
ลำตัวตรงหลังพิงพนักเก้าอี้ มือทั้งสองประสานหรือประกบกันไว้บนตัก
5.4 การนั่งเก้าอี้ต่อหน้าผู้ใหญ่
ทั้งชาย – หญิง
นั่งในลักษณะเดียวกันกับการนั่งตามลำพัง ผิดกันเล็กน้อยตรงที่วางมือนั้นจะต้องวางมือนั้นจะต้องวางไว้บนหน้าตักด้วยการประสานมือหรือการประสานมือหญิงและชาย
และห้ามนั่งไขว่ห้างต่อหน้าบุคคลที่เคารพหรือควรให้ความเคารพ
6.การพูดจา
การพูดจามีส่วนในการเสริมสร้างบุคลิกภาพที่ดีงามและมีความสำคัญในการประกอบธุรกิจ
การงานหรือการดำเนินชีวิตประจำวันของบุคคล
คนบางคนบุคลิกภาพอย่างอื่นดีเกือบทุกอย่าง
แต่เมื่อได้ฟังการพูดจาแล้วทำให้เกิดความรู้สึกในทางลบได้
ความสำคัญของการพูดจานี้ คนทุกยุคทุกสมัยได้มีการสั่งสอนอบรมตักเตือนผู้ที่อยู่ในความปกครองดูแล
หรือมีการกล่าวตักเตือนกันโดยทั่วไปเป็นถ้อยคำสำนวนต่าง ๆ มีมากมาย เช่น
ในสุภาษิตสอนหญิงของพระสุนทรโวหาร (ภู่) กล่าวเป็นคำกร่อนไว้ว่า
จะพูดจาปราศรัยกับใครนั้น
อย่าตะคั้นตะคอกให้เคืองหู
ไม่ควรพูดอื้ออึงขึ้นมึงกู คนจะลู่ล่วงลามไม่ขามใจ
แม้นจะเรียนวิชาทางค้าขาย อย่าปากร้ายพูดจาอัชฌาสัย
จึงซื้อง่ายขายดีมีกำไร ด้วยเขาไม่เคืองจิตคิดระอา
เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ
การพัฒนาบุคลิกภาพทางด้านการพูดจานี้ สิ่งสำคัยที่ควรกระทำ เช่น
ฝึกหัดพูดจาให้นุ่มนวลอ่อนหวาน มีคำลงท้ายคำพูดด้วยคำว่า “ครับ” หรือ “ค่ะ” เสมอรู้จักพูดถูกต้องเหมาะสมกับกาละเทศะและบุคคล
พยายามพูดจาให้ชัดถ้อยชัดคำ ไม่พูดคำสองคำแล้วมี “เอ้อ-อ้า” สลับกันไปจนน่ารำคาญ
และที่สำคัญพยายามใช้ภาษาพูดให้ถูกต้องด้วย
7.การรับประทานอาหาร
ครูอาจารย์บางคนไม่ค่อยสำรวมระวังในเรื่องการรับประทานอาหารทำให้เสียภาพลักษณ์และเสียบุคลิกภาพที่ดี
เช่น การเดินรับประทานอาหารตามที่สาธารณะและการเคี้ยวอาหารจนมีเสียงดัง เป็นต้น
ดังนั้น ในการรับประทานอาหารในที่สาธารณะหรือกับคนหมู่มาก
จึงต้องระวังรักษากิริยาอาการให้ดูเรียบร้อยน่าดู ข้อควรปฏิบัติที่สำคัญ เช่น
7.1 ไม่ส่งเสียงดังขณะรับประทานอาหาร
7.2 ไม่รับประทานอาหารมูมมาม เลอะเทอะ เปรอะเปื้อน
7.3 ไม่เคี้ยวอาหารให้เกิดเสียงดัง
7.4 ไม่ดื่มน้ำขณะอาหารอยู่ในปาก
7.5 ไม่ควรใช้ไม้จิ้มฟันต่อหน้าคนทั้งหลายที่โต๊ะอาหาร
7.6 ไม่รับประทานอาหารคำโตจนเกินไป
7.7 ไม่พูดขณะที่มีอาหารอยู่ในปาก
7.8 ขณะที่เคี้ยวอาหาร
อย่าตักอาหารอื่นขึ้นรอไว้ที่ปาก
7.9 อย่าก้มหน้าก้มตารับประทานอาหารจนมิได้สนใจสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ
บ้าง
7.10 ควรส่งอาหารเข้าปากทีละคำ อย่าให้เหลือค้างช้อนไว้
อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า
การพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลเพื่อความสำเร็จในการทำงานหรือการพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลให้เป็นที่ประทับใจของลูกค้า
หรือผู้รับบริการนั้น โดยหลักการแล้วควรมีการพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน
ทั้งบุคลิกภาพภายนอกอันได้แก่ รูปร่าง หน้าตา กิริยาท่าทาง การแต่งกาย การพูดจา
และบุคลิกภาพภายในอันได้แก่ สภาวะทางอารมณ์ จิตใจ
ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาประสิทธิภาพงาน โดยส่วนร่วมต่อไป
ความหมายของค่านิยม (Values)
มีผู้ให้ความหมายไว้หลายความหมาย พอรวบรวมได้ดังนี้
ดร.ก่อ สวัสดิพาณิชย์ (2518 : 46) กล่าวว่า ค่านิยมหมายถึง
ความคิดพฤติกรรมและสิ่งอื่นที่คนในสังคมหนึ่งเห็นว่ามีคุณค่า
จึงยอมรับมาปฏิบัติตามและหวงแหนไว้ระยะหนึ่ง
ค่านิยมมักเปลี่ยนแปลงไปตามกาลกาลสมัยและความคิดเห็นของคนในสังคม
ดร.สาโรช บัวศรี ( 2529 : 8 )กล่าวว่า ค่านิยม หมายถึง สภาพหรือการกระทำบางประการที่เราเชื่อหรือนิยมว่าควรยึดถือหรือยึดมั่น
หรือว่าเราควรกระทำหรือปฏิบัติเพื่อให้บรรลุถึงความมุ่งหมายของสังคมหรือตัวเราเอง
จาก Diction of Education ให้ความหมายว่า ค่านิยม หมายถึงคุณลักษณะใด ๆ
ที่ได้รับการพิจารณาว่ามีความสำคัญในด้านจิตวิทยา สังคม ศีลธรรม หรือ สุนทรียภาพ
สำหรับค่านิยมทางศีลธรรมและจิตใจเป็นกฎเกณฑ์
และนำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อยกระดับคุณค่าของชีวิตให้สูงขึ้น(Good .
1973)
จากความหมายข้างต้น พอสรุปได้ว่า ค่านิยมหมายถึงความนิยมชมชอบในแนวคิด
การกระทำความประพฤติอย่างหนึ่งอย่างใด
ว่าเป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่าพร้อมที่จะปฏิบัติตามในชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือตลอดไป
ซึ่งค่านิยมของบุคคลไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย
การเกิดค่านิยม
การเกิดค่านิยมใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงค่านิยม มีองค์ประกอบต่าง ๆ
ดังนี้ คือ
1.ความคิดและประสบการณ์ คนที่มีประสบการณ์มามากย่อมมีโอกาสได้รู้เห็นสิ่งต่าง ๆ มามาก
ทำให้การเปรียบเทียบ
เกิดความคิดคำนึ่งถึงข้อดีข้อบกพร่องควรทำไม่ควรทำซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการตัดสินใจเลือกกระทำในสิ่งที่เห็นว่าเหมาะสมตัวอย่าง
เช่น คนที่สูบบุหรี่มากเป็นระยะเวลานานจนเกิดว่าความคิดว่าบุหรี่เป็นสิ่งที่ไม่มีคุณค่าแต่อย่างใด
มีแต่โทษต่อตัวเองและผู้อื่น จึงตัดสินใจเลิกบุหรี่โดยเด็ดขาด เป็นต้น
2.การอบรมสั่งสอนการอบรมสั่งสอนที่ถูกวิธีจะช่วยให้ผู้ที่ได้รับการฉุกคิดหรือมีสำนึกอันถูดต้อง
แต่การอบรมสั่งสอนจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่องจึงจะบังเกิดผลดี
3.การชักชวนจากผู้อื่นบุคคลที่ใกล้ชิดหรือเคารพรักนับถือ
มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือค่านิยมของบุคคลได้อย่างมาก เช่น
การติดยาเสพติดของมึนเมาของกลุ่มเยาวชน
ก็มีสาเหตุจากการชักจูงของเพื่อนฝูงเป็นปัจจัยสำคัญ
4.การศึกษาเล่าเรียน การศึกษาเล่าเรียนทำให้คนเราได้รับทั้งความรู้ความคิดและประสบการณ์
รู้จักวิธีการวินิจฉัยว่าสิ่งใดควรมิควร
ซึ่งเป็นเหตุทำให้มีการเปลี่ยนแปลงค่านิยมตามมา
5.การปลูกฝังอุดมการณ์อุดมการณ์เป็นเรื่องของความเชื่อ
ตนที่ได้รับการปลูกฝังให้มีความเชื่อถือยึดถือในสิ่งใด
ก็จะปฏิบัติตามความเชื่อนั่น ๆ ยากแก่การเปลี่ยนแปลง เช่น
คนที่มีความยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย
ย่อมยากที่ใครจะมาชักชวนให้เลื่อมใสต่อการปกครองในระบอบอื่นได้
6.การเห็นตามกัน คนที่อยู่รวมกันเป็นคณะ เป็นหมู่เหล่า มักจะมีความเห็น
ความรู้สึกคิดคล้าย ๆ กัน เช่น สังคมของกลุ่มวัยรุ่นมักชอบอะไรเหมือน ๆ กัน
เป็นต้น
7.การใช้กฎข้อบังคับ เมื่อการปลูกฝังค่านิยมโดยวิธีอื่น ๆ เช่น การศึกษาอบรม การชักชวน
หรือการปลูกฝังอุดมการณ์ ไม่อาจให้ผลทันการณ์ได้
ก็จำเป็นต้องใช้กฎข้อบังคับเข้ามาช่วย การใช้กฎข้อบังคับเป็นวิธีต้องการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาบางสิ่งบางอย่างในเวลาจำกัด
อย่างไรก็ตาม การใช้กฎข้อบังคับนี้
หากผู้ที่มีหน้าที่ในการรักษากฎระเบียบได้กระทำหน้าที่ของตนอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องแล้ว
คนที่เคยรู้สึกลำบากใจในการปฏิบัติบางสิ่งบางอย่าง เมื่อทำไปนาน ๆ
จนเกิดความเคยชินแล้วก็จะกลายเป็นนิสัยและยอมรับโดยไม่รู้สึกลำบากใจในที่สุด
8.ความนิยมตามยุคสมัย ความนิยมตามยุคสมัยเกิดขึ้นได้กับบุคคลทุกระดับ
แต่ความนิยมตามยุคตามสมัยมีช่วงระยะเวลาไม่นานนัก ดังนั้น
จึงทำให้คนที่เคยนิยมชมชอบในสิ่งหนึ่งแล้วเปลี่ยนไปนิยมชมชอบในอีกสิ่งหนึ่งเมื่อเวลาเปลี่ยนไป
เช่น การแต่งกาย เป็นต้น
9.ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนะธรรม ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นความเปลี่ยนแปลงทางด้านการปะทะสังสรรค์หรือการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลส่วนการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในทุก
ๆ ด้าน เช่น การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์สิ่งใหม่ มาใช้ในการผลิต
การเปลี่ยนแปลงทางด้านการแต่งกาย และการเปลี่ยนแปลงวิธีการรับประทานอาหาร เป็นต้น
เมื่อสังคมและวัฒนธรรมเปลี่ยนแปลงไป
บุคคลซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมก็จำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงใหม่
ใครเคยประพฤติปฏิบัติอย่างไร
หากจะกระทำเช่นนั้นอยู่ต่อไปคงจะอยู่ในสังคมอย่างยากลำบาก ดังนั้น
จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงค่านิยมเดิม แล้วยึดถือปฏิบัติตามแนวใหม่
เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดค่านิยมดังกล่าวมานี้
แต่ละข้อต่างก็มีอิสระจากกัน ค่านิยมบางชนิดของคนอาจจะเกิดจากเหตุปัจจัยเดียวหรือเกิดจากเหตุปัจจัยหลาย
ๆ อย่างก็ได้
และค่านิยมที่คนเลือกกระทำอาจจะเป็นค่านิยมที่พึ่งประสงค์ของสังคมส่วนรวมก็ได้
ชนิดของค่านิยม
การจำแนกชนิดหรือประเภทของค่านิยม
ขึ้นอยู่กับความรู้ความเข้าใจและเจตคติของแต่ละคน ดังเช่น ฟีนิกซ์(Phenix.
1958) จำแนกค่านิยมออกเป็นชนิดต่าง ๆ
ดังนี้
1.ค่านิยมทางวัตถุ (material values) เป็นค่านิยมช่วยให้ชีวิตและร่างกายคนเราอยู่รอดต่อไป ได้แก่ ปัจจัย
4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยและยารักษาโรค
2.ค่านิยมทางสังคม (social values) เป็นค่านิยมที่ทำให้เกิดความรักความเข้าใจและความต้องการทางสังคมของบุคคล
3.ค่านิยมทางความจริง (truth values) เป็นค่านิยมที่เกี่ยวกับความจริงซึ่งเป็นค่านิยมที่สำคัญยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาหาความรู้
และนักวิทยาศาสตร์ที่พยายามค้นหากฎแห่งธรรมชาติ
4.ค่านิยมทางจริยธรรม (moral values) เป็นค่าที่ยมที่ทำให้เกิดความรับผิดชอบชั่วดี
5.ค่านิยมทางสุนทรียภาพ (aesthetic
values) เป็นค่านิยมที่เกี่ยวข้องกับความปรารถนาความสมบูรณ์ของชีวิต
รวมทั้งความศรัทธาและบูชาในทางศาสนาด้วย
ความสำคัญของค่านิยม
ค่านิยมความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ในสังคมทุกสังคม
ทั้งนี้เพราะค่านิยมสามารถเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นถึงสภาพความแตกต่างทางสังคมนั้น ๆ
ได้ ความสำคัญของค่านิยมมีดังนี้
1.เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของมนุษย์
2.เป็นหลักในการประเมินผลค่าของความประพฤติ
3.ช่วยรักษาเอกราชของชาติไว้ให้ยั่งยืนมั่นคง
ค่านิยมพื้นฐาน 5 ประการ
คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้ร่วมกันพิจารณากำหนดค่านิยมพื้นฐาน
5 ประการขึ้นไว้ และได้ประกาศใช้เพื่อให้ประชาชนในสังคมไทย
ได้ดำเนินชีวิตตามหลักคุณธรรมเพื่อความปลอดภัยสันติสุขของคนในสังคม
และเพื่อความมั่นคงของชาติดังนี้
1. การพึ่งตนเอง ขยันหมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบ
2. การประหยัด อดออม
3. การมีระเบียบวินัย และเคารพกฎหมาย
4. การปฏิบัติตามคุณธรรมทางศาสนา
5. ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายแห่งค่านิยมดังกล่าว
สำนักงานคณะกรรมการการวัฒนธรรมแห่งชาติ เห็นสมควรวางแนวปฏิบัติไว้ดังนี้
1.การพึ่งตนเอง ขยันหมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบ
1.1 การศึกษาหาความรู้อยู่เป็นนิจ
1.2 ฝึกฝนตนเองให้มีความรู้ความสามารถและความชำนาญ
1.3
ใช้ความรู้ความสามารถของตนเองให้เต็มที่ก่อนที่จะขอความร่วมมือจากผู้อื่น
1.4 มีความเข้มแข็ง อดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคและปัญหาทั้งปวง
1.5 ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
1.6 คิดชอบ ทำชอบ และแก้ปัญหาได้
1.7 ขวนขวายประกอบอาชีพโดยสุจริตไม่เลือกงาน
1.8 รับผิดชอบต่อตนเอง
ต่อส่วนร่วม ต่อหน้าที่และการกระทำ
1.9 ปฏิบัติงานให้เสร็จเรียบร้อย ไม่คั่งค้าง
2.การประหยัดและอดออม
2.1 มีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย
2.2 มีความพอดีในการบริโภคและเว้นการผ่อนส่งที่เกินความสามารถ
2.3 ใช้ทรัพยากรและเวลาเป็นประโยชน์มากที่สุด
2.4 คำนึงถึงฐานะและเศรษฐกิจ คิดก่อนจ่าย ใช้เท่าที่จ่ายจริง
2.5 ไม่ใช่จ่ายสุลุ่ยสุร่าย
ฟุ่มเฟือย หรือตระหนี่ถี่เหนียวเกินไป
2.6 จัดงานหรือพิธีต่าง
ๆ โดยใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น
2.7 เพิ่มพูนทรัพย์ด้วยการเก็บและนำไปทำให้เกิดประโยชน์
2.8 รู้จักใช้
ดูแลรักษา และบูรณะทรัพย์ทั้งของตนและของส่วนร่วม
2.9 วางแผนการใช้จ่ายให้รอบคอบ มีสัดส่วนและออมไว้บ้างตามสมควร
3.การมีระเบียบวินัยและเคารพกฎหมาย
3.1 รักษาความสะอาดของบ้านเมือง
3.2 ช่วยกันรักษาและไม่ทำลายสาธารณสมบัติและสิ่งแวดล้อม
3.3 รู้จักสิทธิและหน้าที่ และละเว้นการใช้อภิสิทธิ์
3.4 รับบริการและให้บริการตามลำดับก่อนกลัง
3.5 สนับสนุนและส่งเสริมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมาย
3.6 ไม่แก้ไขปัญหาด้วยวิธีรุนแรงหรือไม่ชอบด้วยระเบียบวินัย
3.7 มีมารยาทในการขับขี่ยานพาหนะ ปฏิบัติตามกฎจราจร
และช่วยดูแลทางสัญจรไปมา
3.8 ทำหน้าที่พลเมืองดีโดยแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ เมื่อรู้เห็นการกระทำผิดระเบียบวินัยและกฎหมาย
3.9 รับผิดชอบและปฏิบัติตามระเบียบวินัยในฐานะเจ้าหน้าที่
4.การปฏิบัติตามคุณธรรมของศาสนา
4.1 ไม่เบียดเบียนประทุษร้ายต่อคนและสัตว์
4.2 มีเมตตากรุณา
4.3 ไม่เห็นแก่ตัวได้
เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเสียสละ เห็นประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนตัว
4.4 ไม่พูดปด
ไม่ยุยงให้แตกร้าว ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเหลวไหล
4.5 มีความประพฤติดีในความสัมพันธ์ทางครอบครัวและเพศ
4.6 เว้นสิ่งเสพติด มีสติสัมปชัญญะ
4.7 มีความละอายและเกรงกลัวต่อการกระทำชั่ว
4.8 มีความอดทน อดกลั้น
4.9 มีความกตัญญูกตเวที
4.10 มีความซื่อสัตย์สุจริต
4.11 ละชั่วประพฤติดี ทำจิตใจให้ผ่องใส
4.12 เชื่อกฎแห่งกรรม เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
5.ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
5.1 สถาบันชาติ
5.1.1ศึกษาให้มีความเข้าใจประวัติการดำรงของชาติ
5.1.2สอดส่องปองกันภัย และแก้ไขความเสียหายที่กระทบกระเทือนความมั่นคงของสถาบันชาติ
5.1.3ป้องกันและรักษาผลประโยชน์ของชาติ
5.1.4ส่งเสริมและรักษาเกียรติของชาติ ภาคภูมิใจในความเป็นไทยและนิยมไทย
5.1.5สร้างเสริมและความสามัคคีของคนในชาติ
5.1.6เสียสละประโยชน์สุขส่วนตัวและมีชีวิตเพื่อประเทศชาติ
5.1.7ปฏิบัติหน้าที่ของพลเมืองดี โดยเข้ารับราชการทหาร
ประกอบอาชีพสุจริต และเสียภาษีอากรเพื่อพัฒนาประเทศ
5.1.8ยกย่องให้เกียรติผู้ที่ทำหน้าที่ป้องกันและเสียสละเพื่อประเทศชาติ
5.1.9ปฏิบัติตามคติพจน์ที่ว่า “การรักษาวัฒนธรรม คือการรักษาชาติ”
5.2 สถาบันศาสนา
5.2.1ศึกษาศาสนาให้มีความรู้ความเข้าใจอันถูกต้อง
5.2.2ปลูกฝังความเชื่อความเสื่อมใสในศาสนาด้วยปัญญา
5.2.3ปฏิบัติตามคำสั่งของศาสนาในชีวิตประจำวัน
5.2.4สอดส่องป้องกันภัยและแก้ไขความเสียหายที่กระทบกระเทือนความมั่นคงของสถาบันศาสนา
5.2.5ช่วยกันส่งเสริมทำนุบำรุงศาสนา
5.2.6ไม่ทำลายปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุและศิลปกรรมของศาสนา
5.2.7เผยแผ่ความรู้และการปฏิบัติของศาสนา
5.2.8เคารพเทิดทูลศาสนาไม่กระทำการใด ๆ ในทางดูหมิ่นเหยียดหยาม
5.2.9สร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้นับถือศาสนาต่างๆ
5.3สถาบันพระมหากษัตริย์
5.3.1ศึกษาหาความรู้ ความเข้าใจอันดีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์
5.3.2รักษาและส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
5.3.3สอดส่องป้องกันภัยและแก้ไขความเสียหายที่กระทบกระเทือนความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์
5.3.4แสดงความจงรักภักดี เทิดทูนพระเกียรติและเผยแผ่พระราชกรณียกิจ
5.3.5ร่วมกันประกอบความดีเพื่อความเป็นพระราชกุศล
โดยเฉพาะในวันสำคัญที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์
ค่านิยมของครู
ค่านิยมของครู หมายถึง
แนวความคิดหรือความประพฤติอันดีงามของสังคมที่ครูจะต้องยึดถือเป็นหลักประจำใจ
และปฎิบัติตามสิ่งที่ได้ยึดถือนั่นเป็นประจำ
ค่านิยมของครูจะต้องเป็นไปตามคุณลักษณะของคนไทยที่ประเทศชาติ
ต้องการและจะต้องสอดกับค่านิยมที่ดีงามของสังคมไทย ดังนั้น
ค่านิยมที่พึ่งประสงค์ของครูจึงควรมีดังนี้
1.ความมีระเบียบวินัย
2.ความซื่อสัตย์ สุจริตและความยุติธรรม
3.ความขยัน ประหยัด อดทน การยึดมั่นในสัมมาชีพ
4.ความสำนึกในหน้าที่ และความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ
5.มีความคิดริเริ่ม วิจารณ์และตัดสินอย่างมีเหตุผล
6.ความกระตือรือร้นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย รักและเทิดทูน
ชาติ ศาสน์ กษัตริย์
7.การรู้จักรักษาพลานามัยของร่ายกายจิตใจให้สมบูรณ์
8.การพึ่งตนเอง และมีอุดมการณ์แห่งวิชาชีพ
9.ความภาคภูมิใจ และมีอุดมการณ์แห่งวิชาชีพ
10.ความเสียสละ เมตตาอารี กตัญญูกตเวที กล้าหาญ และสามัคคี
11.ความนิยมไทย
12.ความหมั่นในการศึกษาความรู้อยู่เป็นนิจ
13.การเคารพยกย่อง คนดีมีคุณธรรม
14.การมีอิสรภาพทางวิชาการ ความคิดและการกระทำ
15.ความสันโดษ
16.ความสุภาพอ่อมน้อม ถ่อมตน
17.ความยึดมั่นและปฏิบัติตามคำสอนในศาสนา
ค่านิยมที่ไม่พึงประสงค์ของครู
มีค่านิยมบางประการในสังคมไทยที่ครูไม่ควรนิยมหรือยึดถือปฏิบัติ
เช่น
1.การรักในความสนุกสนาน เพลิดเพลิน
2.ความโอ่อ่า หรูหรา ฟุ่มเฟือย
3.การแสวงหาโชคลาภ
4.ความนิยมในศิลปวัฒนธรรมต่างชาติ
5.การทำอะไรตามสบาย จนทำให้ขาดระเบียบวินัย
6.การถือฤกษ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์
7.ความนิยมของนอก
8.การเชื่อถือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์
9.การใช้สิ่งเสพติด มึนเมา เป็นสื่อสัมพันธ์มิตรภาพ
10.การยกย่องบุคคลผู้ประพฤติผิดคุณธรรมให้เป็นบุคคลสำคัญ
การพัฒนาค่านิยมในวิชาชีพครู
ค่านิยมของบุคคลส่งผลถึงพฤติกรรมของบุคคลนั้น
พฤติกรรมจึงเปรียบเสมือนกระจกเงาของความคิด ความเชื่อ
ความรู้สึกและค่านิยมสามารถปลูกฝังให้เกิดขึ้นกับบุคคลได้
การพัฒนาค่านิยมในความเป็นครูนั้น
นอกจากจะพัฒนาความรู้สึกของผู้ประกอบวิชาชีพโดยตรงแล้ว
บุคคลที่เกี่ยวข้องกับครูทุกฝ่าย จะต้องร่วมมือกันพัฒนาโดยยึดแนวทางดังต่อไปนี้
1.ผู้ที่หน้าบังคับบัญชา ครู อาจารย์ทุกระดับชั้น
จะต้องประพฤติตนเองให้เป็นแบบอย่างที่ดีในด้านคุณธรรม จริยธรรม
2.ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับจรรยามารยาทครู
เพื่อให้ครูอาจารย์ทุกระดับชั้น ได้รับรู้และนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง หากครู
อาจารย์บุคคลใดฝ่าฝืน
หลังจากได้รับการว่ากล่าวตักเตือนแล้วยังไม่ดีขึ้นก็ควรลงโทษตามความเหมาะสม
3.จัดกิจกรรมที่เป็นการเสริมสร้างค่านิยม และคุณธรรมความเป็นครู
เช่น จัดการประกวดครูที่เด่นในด้านต่าง ๆ การฝึกอบรมมารยาทแก่ครู
การฝึกสมาธิและการปฏิบัติธรรม หรือการฟังปาฐกถาธรรม
เป็นต้น
4.จัดให้มีการทบทวน ชี้แจง ด้านคุณธรรม
จริยธรรมและค่านิยมของครูอย่างสม่ำเสมอ
5.ประกาศเกียรติคุณแก่ครูอาจารย์ ผู้มีความสามารถดีเด่นในด้านต่าง
ๆ ตลอดจนการจัดให้มีการส่งเสริมสวัสดิการแก่ครู อาจารย์
และครอบครัวที่มีคุณธรรมดีเด่น เช่น การมอบทุนการศึกษาให้แก่บุตรเป็นต้น
6.การสอบบรรจุและการปฐมนิเทศครูบรรจุใหม่ ควรบรรจุเรื่อง
คุณธรรมและค่านิยมของครูไว้ด้วย เพราะอย่างน้อยก็ช่วยให้ครูได้หันมาใจสิ่งเหล่านี้บ้างตามสมควร
7.ทำการวิจัยเพื่อหาทางแก้ไข ปรับปรุง คุณธรรม
จริยธรรมและค่านิยมของครู
8.จัดการเอกสารเพื่อการสร้างเสริมคุณธรรม
จริยธรรมและค่านิยมให้ครูอาจารย์ได้อ่านกันอย่างทั่วถึง
9.สถาบันที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพครู ต้องเร่งรัดพัฒนาวิชาชีพครูให้ก้าวหน้าโดยการส่งเสริมความก้าวหน้าของครู
อาจารย์ ให้มากที่สุด
10.การให้ทุนและให้งานแก่นักศึกษาที่เลือกเรียนครู
วิธีการช่วยทำให้บุคคลมีความสนใจในความเป็นครูมากขึ้น
แต่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อจะได้บุคคลมีความสนใจในความเป็นครูมากขึ้น แต่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด
เพื่อจะได้บุคคลมีความสนใจในความเป็นครูมากขึ้น แต่ต้องปฎิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด
เพื่อจะได้บุคคลที่มีความรู้ความสนใจ มีความประพฤติและบุคลิกภาพที่เหมาะสม
กับความเป็นครูหากทำไม่ได้ตามเกณฑ์ก็ถูกตัดสิทธิ์ในการรับทุนและการบรรจุเข้าทำงาน
การปลูกฝังและพัฒนาค่านิยม
การปลูกฝังและพัฒนาค่านิยมให้ได้ผลอย่างจริงจังเป็นงานที่ยากยิ่ง
เพราะค่านิยมเป็นเรื่องเกี่ยวข้องระหว่างปัญญา จิตใจ และการกระทำของมนุษย์
ผู้เรียนอาจจะได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับค่านิยมเป็นอย่างดี
แต่ไม่สามารถมีพฤติกรรมที่พึ่งประสงค์ได้ ทั้งนี้อาจเกิดจากองค์ประกอบหลายอย่าง
เช่น วิธีสอนของครู พฤติกรรมของครู ครอบครัว สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมทั่วไป
เพื่อให้ครู อาจารย์ และนักศึกษาครู
ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการปลูกฝังและการพัฒนาค่านิยม
ควรดำเนินการตามลำดับขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 การสร้างศรัทธาให้เกิดแก่ค่านิยมที่จะปลูกฝัง
1)การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
2)การประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ปฎิบัติตามค่านิยมที่ดี
3) การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม
4) จัดกิจกรรมที่ส่งเสริม ค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม
5) การจัดหาหนังสือ เอกสารที่เกี่ยวข้องให้อ่าน ศึกษา
6) ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนต่าง ๆ
ขั้นที่ 2การให้ความรู้ในเรื่องค่านิยมและวิธีปฏิบัติตามค่านิยมที่ต้องการ
เมื่อสามารถสร้างศรัทธาให้เกิดขึ้นแล้ว
จะต้องให้เข้าใจว่าค่านิยมที่พึ่งประสงค์นั้นมีลักษณะอย่างไร
และมีวิธีการอย่างไรที่ปฏิบัติตาม โดยวิธีการดังนี้
1)ใช้วิธีการสอน
การให้ตัวอย่างเปรียบเทียบ การชี้ให้เห็นเหตุและผลของสิ่งนั้น ๆ
สอนจากเรื่องง่ายไปสู่เรื่องยากจากเรื่องใกล้ตัวไปสู่เรื่องไกลตัว
2)ใช้กิจกรรมต่าง ๆ
เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจในค่านิยมนั้น ๆ
3) การใช้ประโยชน์จากสื่อมวลชน
นำมาชี้ให้เห็นการกระทำทั้งทางดีและไม่ดี ผลของการกระทำต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
ขั้นที่ 3การส่งเสริมให้ปฎิบัติตามค่านิยม
การที่จะส่งเสริมให้นักเรียนปฏิบัติตามค่านิยมที่ต้องการจะปลูกฝังนั้น
ครูจะต้องใช้ความพยายาม อดทน และอาศัยความร่วมมือกันระหว่าง ครู อาจารย์
ทุกคนซึ่งมีแนวทางดังนี้
1)สอดแทรก ค่านิยมที่พึงประสงค์ต่าง ๆ
ในการสอนทุก ๆ วิชา
2)ครู-อาจารย์ ต้องมีพฤติกรรมที่เป็นแบบย่างที่ดีถูกต้องเสมอ
การอบรมจึงจะได้ผล
3)ประสานสมันพันธ์
และขอความร่วมมือจากทางบ้านให้ช่วยย้ำเตือนพฤติกรรมที่พึ่งประสงค์นั้น
4)การใช้ระเบียบวินัย
เป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อความสงบเรียบร้อย
สรุปบทสุดท้าย
บุคลิกภาพ หมายถึง
คุณลักษณะทุกสิ่งทุกอย่างทั้งภายนอก และภายในซึ่งรวมอยู่ในบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
ทำให้บุคคลนั้นมีความแตกต่างไปจากบุคคลอื่นๆ
ปัจจัยที่มีอิทธิพลทำให้บุคลิกภาพของบุคคลแตกต่างกัน ได้แก่
อิทธิพลของร่างกายอิทธิพลของต่อม อิทธิพลของสังคม อิทธิพลของการศึกษา
ซึ่งโดยสรุปแล้วปัจจัยที่สำคัญก็คือ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม
อันเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดบุคลิกภาพของบุคคลที่แตกต่างกัน 7 ชนิด คือ
บุคลิกภาพทางอุปนิสัย บุคลิกภาพทางการสมาคม บุคลิกภาพทางอารมณ์
และบุคลิกภาพทางกำลังใจ คนที่มีบุคลิกภาพที่ดีย่อมได้เปรียบกว่าบุคคลอื่น ๆ
ทำให้คนอื่นและสังคมยอมรับ นอกจากนี้ยังทำให้บุคคลนั้นประสบความสำเร็จในการงานด้วย
การพัฒนาบุคลิกภาพ เป็นสิ่งที่สำเป็นสำหรับครูอาจารย์
มีกระบวนการที่สำคัญ อยู่ 4 ขั้นตอน คือ การวิเคราะห์ตนเอง
การปรับปรุงและฝึกฝนตนเอง การแสดงออก และการประเมินผล
การที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพที่ดี จะต้องดีทั้งบุคลิกภายนอกและภายใน
บุคลิกภาพภายนอกได้แก่ รูปร่าง หน้าตา กิริยา ท่าทาง การพูด การแต่งกาย
ฯลฯบุคลิกภาพภายใน ได้แก่ อารมณ์ ความรู้สึก อุปนิสัย ฯลฯ
ส่วนค่านิยม หมายถึง ความนิยม ชมชอบในแนวคิด การกระทำ
ความประพฤติอย่างหนึ่งอย่างใดว่าเป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่าพร้อมที่จะปฏิบัติตาม
ในชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือตลอดไป ซึ่งค่านิยมของบุคคลไม่คงที่
เปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย ค่านิยม แบ่งออกเป็น 6 ชนิด คือ ค่านิยมทางวัตถุ
ค่านิยมทางสังคม ค่านิยมทางความจริง ค่านิยมทางจริยธรรม
ค่านิยมทางสุนทรียภาพและค่านิยมทางศาสนา
ค่านิยมของคนเราเปลี่ยนแปลงได้ซึ่งเกิดจากองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้ คือ
ความคิดและประสบการณ์การณ์การอบรมสั่งสอน การชักชวนจากบุคคลอื่น
การปลูกฝังอุดมการณ์ การเห็นตามกัน การใช้กฎข้อบังคับ ความนิยมตามยุคตามสมัย
และความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม
ครู อาจารย์ทุกคน ควรปรับปรุง
เปลี่ยนแปลงค่านิยมขอตนเองให้เป็นไปตามที่สังคมยอมรับเห็นว่าดีงาม เช่น
ค่านิยมพื้นฐาน 5 ประการ ค่านิยมที่พึ่งประสงค์ของครู
ซึ่งการปลูกฝังและการพัฒนาค่านิยมเป็นเรื่องที่ควรเอาใจใส่ ดำเนินการตามลำดับขั้นตอน
คือ ขั้นที่ 1 การสร้างศรัทธาให้เกิดค่านิยมนั้น ๆ ขั้นที่ 2
การให้ความรู้ในเรื่องค่านิยมและวิธีปฏิบัติตามค่านิยม ขั้นที่ 3
การส่งเสริมให้ปฏิบัติตามค่านิยม เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นครูที่ดี เหมาะสม
กับสังคมปัจจุบัน ครู อาจารย์ทุกคน ต้องให้ความสำคัญทั้งการพัฒนาบุคลิกภาพ
และพัฒนาค่านิยมของตนอันจะเป็นการส่งผลต่อการพัฒนาวิชาชีพครู โดยส่วนรวม
คำถามท้ายบท
1.จงอธิบายความหมายและความสำคัญของบุคลิกภาพ
2.ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อบุคลิกภาพ ได้แก่อะไรบ้าง จงอธิบาย
3.บุคลิกภาพแบ่งออกเป็นกี่ชนิด แตกต่างกันอย่างไร
4.บุคลิกภาพที่ดี ควรมีลักษณะอย่างไร จงอธิบาย
5.กระบวนการพัฒนาบุคลิกภาพ มีอะไรบ้าง จงอธิบาย
6.ครูควรมีการพัฒนาบุคลิกภาพในเรื่องใดบ้าง จงอธิบาย
7.จงอธิบายความหมายและความสำคัญของค่านิยม
8.การเกิดค่านิยมและเปลี่ยนแปลงค่านิยม มีองค์ประกอบ อะไรบ้าง จงอธิบาย
9.ค่านิยมมีกี่ชนิด อะไรบ้าง จงอธิบาย
10.ค่านิยมพื้นฐาน 5 ประการ มีอะไรบ้าง และมีแนวทางปฏิบัติอย่างไร
11.จงอธิบาย ค่านิยมที่พึ่งประสงค์และไม่พึ่งประสงค์ของครู
12.การปลูกผังและพัฒนาค่านิยมมีกี่ขั้นตอน อะไรบ้าง
หนังสืออ้างอิงประจำบท
ก่อ สวัสดิพาณิชย์. “วัยรุ่นกับค่านิยมและระบบศีลธรรม.” เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการศึกษา. กรุงเทพฯ:กระทรวงศึกษาธิการ, 2518.
กันยา สุวรรณแสง. การพัฒนาบุคลิกภาพ. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,2533
จรรยา สุวรรรทัตและดวงกมล เวชบรรยงค์รักษ์. จิตวิทยาทั่วไป กรงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช, 2529.
ทินวัฒน์ มฤคพิทักษ์. พูดได้พูดเป็น. กรงเทพฯ: ก้องหล้า , 2525
ยนต์ ชุ่มจิต. ความเป็นครู. กรงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2539
ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2525. กรงเทพฯ: อักษรบัณฑิต,2525.
วิจิตร อาวะกุล. บุคลิกภาพ เทคนิคและการพัฒนา. กรงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,ม.ป.ป.
สาโรช บัวศรี. “จริยศึกษา.” เสียง มศว. 1(4): 8 ; มกราคม – กันยายน 2525.
Good, Carter V. Dictionary
of Education. New York: Mc Graw – Hill Book Company, 1973.
Garrion, Karl C. An Introduction
toPersonality. Ohio :CharllesE.Merrill Publishing, 1979.
Phenix, Phillip H. Philosophy of Education. New
York : Henry Half and Company, 1958.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น